มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง จากการเริ่มเป็นโรงเรียนแพทย์สู่มหาวิทยาลัยที่มีความหลากหลายสาขาทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมมุ่งสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกในอนาคต
เริ่มต้นม.มหิดลจากโรงเรียนแพทย์
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ถือกำเนิดด้วยการเป็นโรงเรียนแพทย์มาก่อน ภายใต้ชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” จากนั้นได้ยกระดับมาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2486 และใน ปีพ.ศ. 2512 ได้รับการพระราชทานชื่อใหม่เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีคณะ สาขา วิทยาลัยต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย
15 คณะ 5 วิทยาลัย 4 พื้นที่ 3 วิทยาเขตภูมิภาค
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีอยู่ 15 คณะ 5 วิทยาลัย 4 พื้นที่ และ 3 วิทยาเขตในภูมิภาค ซึ่งจะมีรายชื่อดังต่อไปนี้
พื้นที่ศาลายา-นครปฐม
คณะกายภาพบำบัด / คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร / คณะวิศวกรรมศาสตร์ / คณะศิลปศาสตร์ / คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ / คณะสัตวแพทยศาสตร์ / คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ / วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ / วิทยาลัยราชสุดา / วิทยาลัยศาสนศึกษา / วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา / วิทยาลัยนานาชาติ
พื้นที่บางกอกน้อย-กรุงเทพฯ
คณะเทคนิคการแพทย์ / คณะพยาบาลศาสตร์ / คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
พื้นที่พญาไท-กรุงเทพฯ
คณะทันตแพทยศาสตร์ / คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี / คณะเภสัชศาสตร์ / คณะวิทยาศาสตร์ / คณะสาธารณสุขศาสตร์
พื้นที่สมุทรปราการ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
วิทยาเขตภูมิภาค
วิทยาเขตกาญจนบุรี / วิทยาเขตนครสวรรค์ / วิทยาเขตอำนาจเจริญ
บางสาขาวิชามีอยู่ในหลายคณะ
สำหรับการเรียนในของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น จะมีบางสาขาที่มีอยู่ในหลายคณะอยู่ เช่น หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ที่จะมีอยู่ในทั้งคณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และมีอยู่ในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รวมไปถึงหลักสูตรแพทยศาสตร์ ที่มีทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
พื้นที่หลักอยู่ที่มหิดลศาลายา จ.นครปฐม
พื้นที่ศาลายา จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่หลักของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมีอาคารอธิการบดี อาคารกองบริหารจัดการต่างๆ รวมไปถึงศูนย์การเรียนรู้หลักที่สำคัญ ที่พร้อมให้บริการนักศึกษาเต็มรูปแบบ
วิทยาเขตภูมิภาค=คณะ
โดยปกติแล้ววิทยาเขตของมหาวิทยาลัยต่างๆ มักจะประกอบไปด้วยคณะหรือหน่วยงานแยกออกไปตามละหน่วยงาน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว สถานะของวิทยาเขตในภูมิภาค จะมีสถานะในรูปแบบ 1 วิทยาเขต = 1 คณะ ไม่ได้มีการแบ่งแยกคณะออกไปเป็นหน่วยงานย่อยแต่อย่างใด แต่จะปรากฎออกไปในรูปแบบของหลักสูตร/สาขาแทน
ปี 1 ทุกคนต้องมาเรียนที่มหิดล ศาลายา
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่คณะไหน หรือวิทยาเขตในภูมิภาคใด ต้องเรียนในช่วงชั้นปีที่ 1 ที่พื้นที่ศาลายา จังหวัดนครปฐมเพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้ พบปะ เพื่อนนักศึกษาจากคณะหรือวิทยาเขตทั้งหมดด้วยกัน ผ่านการเรียนในรูปแบบแบบคละคณะ/วิทยาเขตจากการเรียนในรายวิชาพื้นฐานต่างๆ ร่วมกัน
อยู่ได้ทั้งหอใน หอนอก หรือไปกลับ
สำหรับการพักอาศัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนดให้นักศึกษาพักอยู่ในหอพักในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังสามารถให้นักศึกษามีสิทธิ์ที่จะเลือกที่พักของตนเองได้ตามความสะดวกของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นหอพักในของมหาวิทยาลัย หรือหอพักนอกรอบๆ มหาวิทยาลัย รวมไปถึงเดินทางไปกลับบ้านพักตนเอง-มหาวิทยาลัยก็ได้ด้วย
ปั่นจักรยานไปเรียน บนพื้นที่สีเขียว
บนพื้นที่ 1,240 ไร่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งเป็นวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัย นักศึกษาสามารถปั่นจักรยานเพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินไปเรียนหรือเดินทางไปในพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะมีเลนจักรยานให้ปั่นโดยเฉพาะ นอกจากนี้นักศึกษาสามารถขอยืมจักรยานไปใช้งานจากแหล่งบริการของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งจะรู้จักกันในชื่อของ “จักก้า”
มีรถรางให้โดยสารภายในมหาวิทยาลัย
นอกจากมหาวิทยาลัยจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางโดยจักรยานแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีรถราง หรือรถแทรม (Tram) ให้โดยสารได้ฟรีภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาอีกด้วย โดยจะมีเส้นทางการเดินรถหลักๆ อยู่ 3 สายที่ครอบคลุมพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้จะให้บริการตั้งเวลา 06:30 น. ไปจนถึง 20:10 น. ของช่วงวันปกติ และตั้งแต่เวลา 06:30 น. ไปจนถึงเวลา 18:10 น. ในช่วงวันหยุด
ค่าเทอมมหิดลชำระเหมาจ่าย
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคำนวณค่าเทอมเป็นแบบใหม่ จากเดิมที่เป็นแบบคิดตามหน่วยกิตตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ไปเป็นคิดแบบเหมาจ่ายต่อเทอม โดยไม่ว่าจะลงทะเบียนวิชาเรียนกี่หน่วยกิตก็ตาม ทั้งนี้อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเริ่มต้นจะอยู่ที่ราวๆ 1x,xxx ไปจนถึงหลักหมื่นปลาย ๆ ในบางสาขาวิชา
ม.มหิดลมีทุนให้ทั้งภายในและภายนอก
สำหรับนักศึกษาที่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการเรียน/ใช้ชีวิต ทางมหาวิทยาลัยก็ได้มีทุนมอบให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งทุนภายในที่มาจากมหาวิทยาลัยเอง หรือทุนภายนอกที่มาจากองค์กรเอกชน นอกจากนี้ยังมีทุนสนับสนุนในการออกไปเรียนรู้ในต่างประเทศอีกด้วย ทั้งในรูปแบบของทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน และทุน Backpack เป็นต้น
ต้องสอบภาษาอังกฤษเพื่อจบ
นอกจากการเรียนให้ครบตามโครงสร้างหลักสูตรของแต่ละคณะ/สาขาวิชาแล้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนตั้งแต่รหัสนักศึกษา 60 เป็นต้นไป จำเป็นต้องยื่นคะแนนสอบภาษาอังกฤษ ทั้งที่การสอบของมหาวิทยาลัยเอง (MU-ELT) หรือใช้คะแนนอื่นๆ เทียบเท่า ที่ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด ยื่นเพื่อสำเร็จการศึกษา